ที่ปรึกษาจะปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรายการข้อกำหนดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการโดยจะศึกษาข้อมูลต่างๆ และรายงานผลการศึกษาเดิมต่อกรมทางหลวง จากนั้นจึงรวบรวมและประมวลผลข้อมูลพื้นฐานเพื่อนำเสนอหลักการออกแบบเบื้องต้น (Conceptual Design) เพื่อสรุปเป็นแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการออกแบบรายละเอียด โดยสรุปขอบข่ายของงานอย่างน้อยมีดังนี้
1. ทบทวนการศึกษาที่ผ่านมา แผนพัฒนาจังหวัด และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุรายกรณี ข้อร้องเรียน และข้อพิพาท ในรอบ 10 ปีล่าสุด (ถ้ามี) หรือตามที่กรมทางหลวงเห็นชอบ
2. ศึกษาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และศึกษาพิจารณาคัดเลือกแนวทาง รูปแบบการขยายทางหลวง และรูปแบบงานโครงสร้างที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์สภาพการจราจรและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อดี ข้อเสีย ตามความเหมาะสม
3. สำรวจเก็บข้อมูลปริมาณจราจร และวิเคราะห์ปริมาณจราจรบนทางหลวง และ ทางแยกรวมถึงโครงข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งปีปัจจุบันและอนาคต
4. สำรวจรายละเอียดภูมิประเทศ แนวทาง แนวระดับ สิ่งก่อสร้าง สาธารณูปโภค และรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการออกแบบและการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
5. สำรวจตรวจสอบดินและวัสดุ สำหรับการออกแบบโครงสร้างชั้นทาง และเป็นข้อมูลในการก่อสร้าง
6. ออกแบบรายละเอียดทางหลวง ทางแยก พร้อมด้วยส่วนประกอบต่างๆ โดยในการออกแบบจะต้องดำเนินการให้เหมาะสม ครอบคลุมลักษณะงานบริการดังต่อไปนี้
ก) สำรวจและออกแบบรายละเอียดทางด้านเรขาคณิต งานทาง งานโครงสร้าง งานระบายน้ำงานระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็น งานจัดภูมิทัศน์ในบริเวณทางแยก และการจัดการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง
ข) สำรวจและออกแบบรายละเอียดของแนวทาง รูปแบบการขยายทางหลวง และรูปแบบงานโครงสร้าง ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานกรมทางหลวง
ค) ดำเนินการออกแบบรายละเอียดทางหลวง ทางแยก พร้อมด้วยส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งในการออกแบบจะต้องดำเนินการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์การจราจร รูปแบบทันสมัย และมีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่
ง) ศึกษาวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การประเมินค่าใช้จ่าย การประเมินผลประโยชน์ และการวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ
7. จัดทำแผนที่ระบบระบายน้ำตลอดทั้งทางหลวง และโครงข่ายถนนที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาและรักษาระบบระบายน้ำที่สมบูรณ์ต่อไป
8. ดำเนินการงานทางด้านสิ่งแวดล้อม
9. ดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทราบ ตลอดการดำเนินโครงการ
10. สำรวจทรัพย์สินและข้อมูลเพื่อการเวนคืนขั้นเริ่มต้นที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาฯ (ถ้ามี) และ จัดทำแผนที่เขตทางหลวง บริเวณที่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ถ้ามี)
11. จัดเตรียมข้อมูลและสื่อต่างๆ สำหรับนำเสนอโครงการฯ (Presentation) ที่สามารถนำเสนอด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตามรายละเอียดที่กำหนด
12. จัดเตรียมเอกสารข้อมูลประกอบการประกวดราคา และประเมินราคาค่าก่อสร้าง
13. จัดการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีตามที่ระบุไว้ในรายการข้อกำหนด
เป็นการทบทวนงานศึกษาความเหมาะสมฯ หรือทบทวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่มีอยู่เดิม (ถ้ามี) และสำรวจออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการสำรวจและออกแบบ ทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 101 สายในเมือง - ต.หนองปลิง มีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 101 ประมาณกม. 3+500 และจุดสิ้นสุดบนทางหลวงหมายเลข 101 ประมาณกม. 8+000 มีระยะทางประมาณ 4.500 กิโลเมตร ให้มีขนาด 4 ช่องหรือมากกว่า โดยให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ โครงข่ายทางหลวง และปริมาณการจราจรในอนาคต พร้อมระบบระบายน้ำ สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องและส่วนประกอบอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ทางด้านการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้คำนึงถึงความปลอดภัยลดผลกระทบต่อชุมชน และสภาพแวดล้อมในแนวสายทาง
สำรวจและออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรม ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ทันสมัยและมาตรฐานการออกแบบของกรมทางหลวง ที่ปรึกษาสามารถแนะนำการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมกับโครงการนี้ได้ โดยต้องให้เหตุผลสนับสนุนข้อแนะนำเหล่านั้น และต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมทางหลวง